ดร.ตั้ว ลพานุกรม เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2441 ที่บ้านตำบลถนนอนุวงศ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร บิดาชื่อ นายเจริญ ลพานุกรม มารดาชื่อ นางเนียร ลพานุกรม มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 คน คือ 1. หลวงลพานุกรมพิพัฒน์ (โต ลพานุกรม) 2. พระดุลยกรมนราธร (ใหญ่ ลพานุกรม) 3. ดร.ตั้ว ลพานุกรม 4. คุณหญิงมานวราชเสวี (ศรี สงขลา) 5. นายศุจิน ลพานุกรม
ด้านการศึกษา พ.ศ. 2449 - 2453 ศึกษาวิชาสามัญที่โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ และโรงเรียนราชวิทยาลัย พ.ศ. 2453 รับพระราชทานทุน จากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ไปศึกษาต่อวิชาสามัญ ที่เมืองฟัลเก็นแบร์ก (Falkenberg) แคว้น มาร์ค (Mark) ประเทศเยอรมนี พ.ศ. 2460 ถูกจับเป็นเชลยศึกที่ประเทศเยอรมนี เนื่องจากประเทศไทยประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนี ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างถูกกุมขังได้ศึกษาวิชาภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ นอกจากนี้ยังได้ฝึกฝนการเล่นเครื่องดนตรีคือ ขลุ่ยฝรั่ง พ.ศ. 2461 เดินทางไปประเทศฝรั่งเศส เพื่ออาสาสมัครเป็นทหารในกองรถยนต์ไทยที่ไปในงานพระราชสงคราม ณ ทวีปยุโรป ทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาฝรั่งเศสและเยอรมัน ต่อมาได้รับยศเป็นจ่านายสิบในกองรถยนต์ไทย และได้รับเหรียญดุษฎีมาลาของรัฐบาลฝรั่งเศส และเดินทางกลับประเทศไทยพร้อมกับกองทหารอาสา พ.ศ. 2462 ได้กลับเข้าศึกษาต่อโดยทุนสมเด็จพระราชบิดาฯอีกครั้งหนึ่ง พ.ศ. 2465 ศึกษาวิชาเคมีในมหาวิทยาลัยกรุงเบิร์น และมหาวิทยาลัยแห่งเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาเคมีดุษฎีบัณฑิต ระดับเกียรตินิยม ที่มหาวิทยาลัยกรุงเบิร์นในปีพ.ศ. 2470 โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “The Influence of Chemical Composition on the Structure of Crystals” พ.ศ. 2471 - 2473 ได้เข้า ศึกษาวิชาเภสัชกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งมิวนิค ประเทศเยอรมนีเป็นเวลา 1 ปี และวิชาพฤกษศาสตร์ที่แผนกวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงปารีส เป็นเวลา 2 ปี พ.ศ. 2473 ในระหว่างการเดินทางกลับประเทศไทยได้ไปดูงานเกี่ยวกับ องค์การทางวิทยาศาสตร์ ทั้งในด้านการค้นคว้า อุตสาหกรรมและการศึกษา ของประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่น
การทำงานการเมือง พ.ศ. 2475 - 2476 ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นกรรมการราษฎร (เทียบเท่ารัฐมนตรีในปัจจุบัน ) และในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี ในคณะรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา พ.ศ. 2481 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล ซึ่งมีพลตรีหลวงพิบูลสงคราม(ยศในขณะนั้น)เป็นนายกรัฐมนตรี และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงเศรษฐการในลำดับต่อมา พ.ศ. 2484 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น รัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงเศรษฐกิจ ซึ่งเดิมคือกระทรวงเศรษฐการ
การรับราชการ พ.ศ. 2473 เริ่มรับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยแยกธาตุชั้น 2 ศาลาแยกธาตุ กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม พ.ศ. 2474 ได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอก พ.ศ. 2475 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยแยกธาตุชั้นหนึ่ง ศาลาแยกธาตุ กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม พ.ศ. 2477 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นนักเคมี กรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงเศรษฐการ และปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2478 ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงเศรษฐการ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2478 พ.ศ. 2482 ได้รับการแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกตำแหน่งหนึ่ง
ผลงานสำคัญ ดร.ตั้ว ลพานุกรม เริ่มรับราชการ เมื่อปี พ.ศ.2473 ในตำแหน่งผู้ช่วยแยกธาตุชั้น 2 งานที่ทำส่วนใหญ่ ได้แก่ การแยกธาตุ วิเคราะห์วัตถุต่าง ๆ สกัดวิตามินบีจากรำข้าวแก้โรคเหน็บชา ผลิตยาบางชนิด เช่น น้ำมันกระเบาสำหรับใช้รักษาโรคเรื้อน จำหน่ายให้แก่โรงพยาบาลและประชาชน สำหรับงานที่ชอบมาก คือ งานทางด้านนิติเคมี การวิเคราะห์สาร ยาพิษ คราบโลหิต และอาวุธปืน และต่อมาเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ ท่านได้พัฒนางานกรมวิทยาศาสตร์ โดย
ในปี พ.ศ. 2482 ดร.ตั้ว ลพานุกรม ได้รับการแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกตำแหน่งหนึ่ง ท่านได้ปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรการศึกษาเภสัชกรรมศาสตร์จากวุฒิประกาศนียบัตรเภสัชกรรม (ป.ภ.) เทียบเท่าอนุปริญญาเป็นระดับปริญญาหลักสูตร 4 ปี และสร้างอาคารเรียนถาวรของแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์เป็นครั้งแรกในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมามีการขยายงานเป็นคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และท่านยังได้ริเริ่มให้จัดตั้งโรงงานเภสัชกรรม เพื่อผลิตยาใช้ภายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันคือองค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ท่านจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลที่มีคุณูปการอย่างสูงต่อวงการเภสัชศาสตร์ของประเทศไทย
ตำแหน่งสำคัญ รัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงการเศรษฐกิจ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ ผู้อำนวยการสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ ภาคีสมาชิกในสำนักวิทยาศาสตร์แห่งราชบัณฑิตสถาน หัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานกรรมการอำนวยการโรงงานเภสัชกรรม ประธานกรรมการพิจารณางานอุตสาหกรรมของรัฐบาล กรรมการปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม นายกเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญราชอิสริยาภรณ์
การยกย่อง จากผลงานต่างๆของดร.ตั้ว ลพานุกรมในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศทำให้ได้การยกย่องว่าเป็น “รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย”
งานอดิเรก งานอดิเรกที่ชื่นชอบ ได้แก่ การเล่นดนตรี ขลุ่ยฝรั่ง และการภาพถ่าย เคยได้รับรางวัลในการประกวดภาพถ่ายของนักถ่ายภาพสมัครเล่น
อนิจกรรม ได้ปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ จนถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคไส้ติ่งอักเสบ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2484 สิริอายุ 43 ปี
|